ชมรม มสธ.ระยอง

Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

สังคมแห่งการแบ่งปันเพื่อชาว มสธ.ระยอง


    แนะแนวการศึกษากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตให้ประสบความสำเร็จ

    nustatalo
    nustatalo
    อนุบาล3
    อนุบาล3


    จำนวนข้อความ : 84
    Join date : 19/11/2009
    : 44
    ที่อยู่ : นิคมพัฒนา

    แนะแนวการศึกษากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตให้ประสบความสำเร็จ Empty แนะแนวการศึกษากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตให้ประสบความสำเร็จ

    ตั้งหัวข้อ  nustatalo Tue Mar 09, 2010 10:34 am

    แนะแนวการศึกษากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตให้ประสบความสำเร็จ
    ประทุมพร กำเหนิดฤทธิ์ [๑]
    ธวัชชัย รังสิตโยธิน , มนต์ชัย ชนินทรลีลา [๒]
    ณัฐพินันท์ ตรงกึ่งตอน [๓]

    http://www2.judiciary.go.th/atyc/public_html/website/c06.htm

    การศึกษาเนติบัณฑิตไทย
    การศึกษากฎหมายและสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิตของประเทศไทยนั้น เป็นการศึกษากฎหมายภายหลังที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต จากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่เนติบัณฑิตยสภาได้ให้การรับรองแล้ว โดยสถานที่ศึกษาตั้งอยู่ที่ “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” อาคารเนติบัณฑิตยสภา เลขที่ ๓๒/๒ - ๘ ถนนกาญจนาภิเษก แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ ฯ ๑๐๗๐๐ โทร. ๐ - ๒๘๘๗ - ๖๘๑๐ , ๐ - ๒๘๘๗ - ๖๘๐๑ - ๙

    การสอบความรู้เนติบัณฑิตในแต่ละสมัยหรือในแต่ละปีจะมีการสอบ ๒ ภาค กล่าวคือ การสอบ “ภาคหนึ่ง” ในประมาณเดือนตุลาคม และการสอบ “ภาคสอง” ในประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายน ในแต่ละภาคใช้เวลาสอบ ๒ วัน วันละ ๑๐ ข้อ ให้เวลา ๔ ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา ๑๔ ถึง ๑๘ นาฬิกา โดยในการสอบแต่ละภาคจะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ของแต่ละกลุ่มวิชา มิใช่นำคะแนนทั้งสองกลุ่มวิชาในแต่ละภาคมารวมกันให้ได้เกินร้อยละ ๕๐ ดังแต่ก่อน เมื่อสอบกลุ่มวิชาใดผ่านแล้วก็สามารถเก็บสะสมไว้ได้โดยไม่ต้องสอบใหม่ในสมัยหน้า คงสอบเฉพาะกลุ่มวิชาที่ไม่ผ่าน และเมื่อสอบข้อเขียนได้ครบทุกกลุ่มวิชาทั้งสองภาคแล้วต้อง “สอบปากเปล่า” อีกครั้งหนึ่ง

    ในการสอบภาคหนึ่ง แบ่งเป็นกลุ่มวิชากฎหมายอาญา กลุ่มวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายพิเศษ วันแรกจะสอบกลุ่มวิชากฎหมายอาญา โดยข้อสอบจะออกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ - ๕๘ , ๑๐๗ - ๒๐๘ ออก ๑ ข้อ , มาตรา ๕๙ - ๑๐๖ ออก ๒ ข้อ , มาตรา ๒๐๙ - ๒๘๗ ออก ๑ ข้อ , มาตรา ๒๘๘ - ๓๙๘ ออก ๒ ข้อ และยังออกข้อสอบตามวิชากฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง อีกวิชาละ ๑ ข้อ รวมทั้งหมด ๑๐ ข้อ

    วันที่สองของภาคหนึ่ง จะสอบกลุ่มวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยข้อสอบจะออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยทรัพย์และที่ดิน ๑ ข้อ , นิติกรรมสัญญา หนี้ ละเมิด ๒ ข้อ , ซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ๑ ข้อ , ยืม ค้ำประกัน จำนำ จำนอง ๑ ข้อ , ตัวแทน ประกันภัย ตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด ๑ ข้อ , หุ้นส่วนบริษัท ๑ ข้อ , ครอบครัว มรดก ๑ ข้อ และยังออกสอบตามวิชากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ๑ ข้อ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ๑ ข้อ รวมทั้งหมด ๑๐ ข้อ

    ส่วนการสอบภาคสอง แบ่งเป็นกลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพิเศษ วันแรกสอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค ๑ ออก ๒ ข้อ , ภาค ๒ ออก ๒ ข้อ , ภาค ๓ ออก ๑ ข้อ , ภาค ๔ ออก ๒ ข้อ นอกจากนี้ยังสอบตามกฎหมายล้มละลาย ๒ ข้อ , ระบบศาลและธรรมนูญศาลยุติธรรม ๑ ข้อ รวมทั้งหมด ๑๐ ข้อ

    วันที่สองของภาคสอง จะสอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค ๑ - ภาค ๒ ออก ๓ ข้อ , ภาค ๓ - ๔ ออก ๒ ข้อ สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม ๑ ข้อ กฎหมายลักษณะพยาน ๒ ข้อ นอกจากนี้ยังสอบวิชาว่าความและการถามพยาน ๑ ข้อ การจัดทำเอกสารทางกฎหมาย ๑ ข้อ รวมทั้งหมด ๑๐ ข้อ [๔]

    สำหรับเนื้อหาต่อไปผู้เขียนจะเสนอแนะแนวทางการศึกษากฎหมายชั้นเนติบัณฑิต โดยอาศัยข้อมูลจากบทความของนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน รวมทั้งจากนักศึกษาที่สอบได้ “ที่ ๑ เนติบัณฑิต” ในสมัยต่าง ๆ หลายสมัย [๕] ซึ่งคณะกรรมการเนติบัณฑิตแต่ละสมัยได้ไปสัมภาษณ์หรือขอบทความจากคนเก่งทุกสมัยแล้วนำมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือ “รพี” ประจำวันที่ ๗ สิงหาคม ของทุกปี ทั้งนี้ ผู้เขียนได้นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยสรุปสอดแทรกจากประสบการณ์ของผู้เขียนเพิ่มเติมเข้าไปด้วย หากนักศึกษาสนใจอ่านรายละเอียดก็สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ “รพี” สมัยต่าง ๆ ในห้องสมุดเนติบัณฑิตยสภา

    ในการศึกษาชั้นเนติบัณฑิต คำพิพากษาศาลฎีกาเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้อสอบอัตนัยในชั้นเนติบัณฑิตมักจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างน้อย ๑ เรื่องขึ้นไปมาผูกเป็นข้อเท็จจริงในรูปของปัญหาตุ๊กตา โดยก่อนที่จะนำเสนอแนะวิธีการศึกษากฎหมายและการตอบข้อสอบกฎหมายในชั้นเนติบัณฑิตตามลำดับต่อไป ผู้เขียนจะกล่าวถึง “ความสำคัญของคำพิพากษาศาลฎีกาในประเทศไทย” และ “เทคนิคการอ่านหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพ” เสียก่อน

    ความสำคัญของคำพิพากษาศาลฎีกาในประเทศไทย

    ประเทศไทยใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) คำพิพากษาศาลฎีกาไม่มีผลเป็นกฎหมายดังเช่นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) แต่ในทางปฏิบัติแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในไทยได้เป็นสิ่งสำคัญที่มีน้ำหนักจูงใจต่อวงการนิติศาสตร์ไทย และการปฏิบัติหน้าที่ของบรรดานักกฎหมายโดยเฉพาะในฝ่ายปฏิบัติ เพราะสามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือถือเป็นแนวบรรทัดฐาน เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และการตีความตัดสินกฎหมาย ทำให้ประชาชนและคู่ความเข้าใจกฎหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยในการระงับการนำคดีขึ้นสู่ศาล อันเป็นการบรรเทาความเสียหายในทางเศรษฐกิจระหว่างคู่กรณี รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้ชัดเจนและทันสมัยต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา การศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาจึงต้องเข้าใจการฟังข้อเท็จจริงและการวินิจฉัยกฎหมาย เพราะเมื่อเข้าใจแล้วก็จะสามารถนำไปเทียบเคียงใช้ได้ในกรณีอื่นด้วย และนักศึกษาสามารถยึดถือคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นตัวอย่างของการเขียนคำตอบข้อสอบกฎหมายที่ดีด้วย

    เหตุที่คำพิพากษาศาลฎีกามีความสำคัญในประเทศไทย ผู้เขียนได้วิเคราะห์เพิ่มเติมจากวิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี ๒๕๓๔ เรื่อง “ทัศนคติของนักกฎหมายไทยในการเดินตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา” ว่ามีเหตุผลดังต่อไปนี้ [๖]

    ๑. เหตุผลทางด้านประวัติศาสตร์กฎหมาย เพราะแต่เดิมคำพิพากษาเป็นพระบรมราชวินิจฉัย จึงมีสถานะสูง และในขณะที่ไทยรับเอาระบบประมวลกฎหมายมาใช้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้รับเอกราชทางการศาลโดยเร็ว เราก็ได้รับเอาข้อดีและกฎหมายจารีตประเพณีในส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษรของอังกฤษที่แพร่หลายมาก่อน เช่น ซื้อขาย ตัวแทน ตั๋วเงิน หุ้นส่วนบริษัท มาผสมผสานกันจนมีลักษณะพิเศษเป็นของไทยเอง

    ๒. เหตุผลทางด้านการศึกษา เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนกฎหมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันส่วนหนึ่งนั้นเป็นผู้ที่อยู่ในวงวิชาชีพกฎหมายในฝ่ายปฏิบัติ เช่น ผู้พิพากษา พนักงานอัยการ และส่วนใหญ่ก็สำเร็จการศึกษาหรือเป็นศิษย์ของผู้ที่สำเร็จการศึกษามาจากประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี จึงมักจะอ้างหรือถือปฏิบัติตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ดังจะเห็นได้จากหนังสือ ตำรา คำบรรยาย คำอธิบาย และคู่มือกฎหมายต่าง ๆ ที่พิมพ์เผยแพร่อยู่จนถึงในปัจจุบัน แทบจะไม่มีเล่มใดที่ไม่ได้อ้างอิงตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาในการอ้างอิงหรืออธิบายตีความกฎหมาย ทั้งนี้ไม่ว่าผู้เขียนจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม

    ๓. เหตุผลทางด้านความจำเป็น เพราะข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาถือเป็นตัวอย่างการใช้กฎหมายที่ดี สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีไทยในทางปฏิบัติของแต่ละยุคสมัย โดยผ่านการกลั่นกรองตรวจสอบตามกระบวนการทั้งจากคู่ความและผู้พิพากษาตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกา จึงเป็นวิธีการที่สะดวกในการอ้างอิง และเป็นหลักประกันได้ว่าจะมีโอกาสผิดพลาดน้อยที่จะถูกกลับโดยคำพิพากษาศาลสูง

    ๔. เหตุผลทางด้านกฎหมาย เพราะศาลล่างต้องดำเนินการตามคำสั่งหรือประเด็นที่ศาลสูงได้ย้อนสำนวนส่งมาให้พิจารณาหรือวินิจฉัยตามกฎหมาย โดยเฉพาะคำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้ตัดสินวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นสุดท้าย ได้ก่อให้เกิดผลผูกพันคู่ความและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ต้องยอมรับหรือถูกบังคับตามกฎหมาย นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา๒๖๘ ยังได้บัญญัติยอมรับความสำคัญของคำวินิจฉัยของศาลสูงไว้ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ”

    เทคนิคการอ่านหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพ [๗]

    ในการศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ การสอบไล่ การสอบแข่งขัน ตลอดจนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเอกสารเป็นจำนวนมาก “การอ่าน” หรือการท่องจำหนังสือ ตำรา คำบรรยาย คำพิพากษาศาลฎีกา สำนวนคดี ข้อสอบ หรือเอกสารรายงานต่าง ๆ โดยมีหลักหรือแนวทางที่สามารถตีความสิ่งที่อ่านมาแล้วได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว สามารถจดจำแล้วนำมาถ่ายทอดหรือสื่อสารต่อไปให้เป็นที่เข้าใจได้ทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การศึกษา การสอบแข่งขัน และการทำงานมีโอกาสประสบผลสำเร็จได้มากกว่าผู้ที่อ่านหนังสือได้ช้าและขาดประสิทธิภาพ

    นักศึกษาสามารถสร้างคุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญในการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดมีขึ้นในตนเอง โดยฝึกฝนอย่างเป็นระบบและมีลำดับขั้นตอน ควบคู่ไปกับประสบการณ์ สติปัญญา ความตั้งใจหรือแรงจูงใจของผู้อ่านแต่ละคน ด้วย “วิธีการการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ” ซึ่งผู้เขียนได้ดัดแปลงมาจากเอกสารการสอนชุดวิชาการอ่านภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ดังต่อไปนี้

    ๑. ควรพยายามสร้างมโนภาพจากตัวหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมา (คิดถึงความเป็นจริง) ให้เร็วที่สุด เพราะจะทำให้เข้าใจและมีความสามารถในการอ่านเร็วมากขึ้นไปด้วย

    ๒. ควรขจัดปัญหาการเคลื่อนไหวร่างกายที่เกิดเป็นนิสัยที่เป็นอุปสรรคต่อการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพออกไปเสีย เช่น การขยับริมฝีปากหรือการออกเสียงหรือกึ่งออกเสียงพึมพำในขณะที่กำลังอ่านในใจ การส่ายศีรษะไปมาแทนการเคลื่อนสายตาไปมา การใช้นิ้วมือชี้ตัวหนังสือที่อ่าน การอ่านย้อนกลับไปกลับมา เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้อ่านควรหลีกเลี่ยงและหาวิธีแก้ไข เช่น ใช้ไม้บรรทัดปิดข้อความบรรทัดที่อ่านผ่านไปแล้ว เพื่อป้องกันการอ่านย้อนกลับไปกลับมา

    ๓. ต้องรู้จักยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนอัตราความเร็วในการอ่าน และเลือกใช้เทคนิคหรือวิธีการอ่านให้เหมาะสมกับความยากง่ายของเนื้อหาที่อ่าน

    ๔. ต้องสร้างหรือทำความเข้าใจ คือ สามารถอนุมานความหมายอันพึงประสงค์จากข้อความที่อ่านแล้วให้ได้มากและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยสิ่งที่บ่งชี้ถึงความเข้าใจ ได้แก่

    (๑) สามารถจดจำเรื่องราวที่อ่านมาแล้วได้เป็นส่วนใหญ่

    (๒) สามารถจับใจความสำคัญแยกออกจากประเด็นย่อย ๆ ได้

    (๓) สามารถตีความเรื่องที่อ่านมาแล้วได้ว่ามีความสำคัญลึกซึ้งเพียงใด

    (๔) สามารถพิจารณาไตร่ตรอง สรุป หรืออ้างอิงได้อย่างเป็นระบบไม่สับสน

    (๕) สามารถผสมผสานความรู้ที่ได้จากการอ่านให้เข้ากับประสบการณ์อื่นของตนได้อย่างเหมาะสม

    ๕. ต้องมีสมาธิในการอ่าน โดยกำหนดขึ้นในใจให้แน่วแน่มั่นคงว่าต้องอ่านให้เร็วและจับใจความสำคัญให้ได้ ไม่วอกแวกหรือฟุ้งซ่าน ซึ่งอาจใช้วิธีตั้งคำถามให้อยากรู้สิ่งที่จะอ่านต่อไป หรือพยายามเดาสิ่งที่กำลังจะอ่านไว้ล่วงหน้า หรืออาจใช้ทักษะอื่น ๆ เช่น การขีดเส้นใต้ข้อความที่สำคัญ การปรับเปลี่ยนผ่อนคลายอิริยาบทเป็นระยะ ๆ การเลือกหรือปรับปรุงสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่ดีในการอ่านหนังสือ

    ๖. ต้องรู้จักควบคุมสายตาให้อ่านได้เร็ว และเข้าใจสิ่งที่อ่านได้ทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ เพราะตัวหนังสือจะสัมพันธ์กันกับสายตา เพื่อส่งต่อไปยังความรู้สึกนึกคิด โดยนักศึกษาสามารถฝึกปฏิบัติได้ดังต่อไปนี้

    (๑) พยายามใช้สายตากวาดจับเอาข้อความในแต่ละบรรทัดเป็นกลุ่มคำไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะโดยปกติในการอ่านจะเกิดการหยุดของช่วงสายตา คือ เราจะอ่านแล้วหยุด แล้วเริ่มอ่านใหม่เป็นช่วง ๆ ดังนั้น การอ่านข้อความเป็นกลุ่มคำ ย่อมจะทำให้อ่านได้เร็วและเข้าใจยิ่งกว่าการอ่านเป็นคำ ๆ ไป

    (๒) พยายามฝึกฝนหรือปรับปรุงให้สามารถอ่านหนังสือได้อย่างรวดเร็ว โดยการอ่านหนังสือให้ได้อัตรานาทีละประมาณ ๓๕๐ คำขึ้นไป หรืออ่านคำบรรยาย ๑ เล่มให้จบได้ภายในเวลาประมาณ ๓ - ๔ วัน จึงจะถือว่าเป็นการอ่านที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งนักศึกษาอาจฝึกฝนได้ด้วยรูปแบบการอ่านเร็วดังนี้ คือ

    (๒.๑) การอ่านแบบเหนือช่องไฟ คือ การใช้สายตาจับที่เหนือแนวตัวหนังสือที่กำลังอ่านเล็กน้อย แล้วกวาดสายตาอ่านจับข้อความเป็นกลุ่มคำ ๆ ไป

    (๒.๒) การอ่านแบบเว้นขอบริมข้าง คือ การใช้สายตาจับอยู่ที่กลุ่มคำตรงบริเวณกลางบรรทัด โดยเว้นขอบริมข้างซ้ายขวาอยู่ที่ตัวหนังสือประมาณคำที่สาม เพื่อให้สายตาจับอยู่ที่ตัวหนังสือได้เกือบทั้งหมดบรรทัด และป้องกันไม่ให้เกิดการอ่านข้ามหรือเว้นคำไปหรือสายตาไปจับอยู่ที่ขอบนอกริมหนังสือที่ว่างเปล่าโดยไม่ได้ประโยชน์อะไร

    (๒.๓) การอ่านเป็นแถวโดยเลื่อนสายตาจากบนลงล่าง โดยใช้สายตาจับที่แนวกึ่งกลางคอลัมน์ แล้วเลื่อนสายตาอ่านลงมาทีละบรรทัดจนกว่าจะอ่านข้อความที่ต้องการจบ

    (๒.๔) การอ่านแบบจับกุญแจคำหรือข้อความที่สำคัญ โดยการเลื่อนสายตาแบบสลับฟันปลา และการหยุดในแต่ละช่วงสายตาจะต้องมีกลุ่มคำข้อความสำคัญอยู่ด้วย

    ๗. ควรเลือกใช้วิธีการอ่านที่เหมาะสมกับเนื้อหา ดังต่อไปนี้

    (๑) การอ่านแบบข้ามคำ เป็นการอ่านแบบข้ามเป็นคำ ประโยค หรือบรรทัด

    เป็นตอน ๆ ไป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจับสาระหรือใจความสำคัญทั่วไป หรือเพื่อเข้าใจรายละเอียดที่สำคัญบางอย่าง เช่น อ่านเฉพาะประโยคแรกและประโยคสุดท้ายของแต่ละย่อหน้า การอ่านแต่เฉพาะกลุ่มคำหรือวลีที่สำคัญ เป็นต้น

    (๒) การอ่านแบบกวาดสายตา เป็นการอ่านเพื่อค้นหาข้อมูลหรือคำถาม

    สำหรับคำถามบางข้อที่ต้องการ ซึ่งต้องใช้ความเร็วสูง ดังนั้น ขณะกวาดสายตาอยู่จะต้องคำนึงโดยตลอดด้วยว่ากำลังต้องการข้อมูลอะไรอยู่

    (๓) การอ่านแบบสำรวจ เหมาะสำหรับการอ่านบทความหรือหนังสือประเภท

    วิชาที่มีเนื้อหาค่อนข้างยากและสลับซับซ้อน เพื่อทราบเนื้อหาทั่วไปอย่างกว้าง ๆ โดยมีวิธีการอ่านตามขั้นตอน คือ ดูชื่อบทความหรือหัวข้อเรื่อง แล้วอ่านย่อหน้าแรกหรือสองย่อหน้าแรก จากนั้นอ่านประโยคแรกของแต่ละย่อหน้าถัดไป และอ่านย่อหน้าสุดท้ายหรือสองย่อหน้าสุดท้าย ซึ่งมักจะเป็นข้อสรุปประเด็นสำคัญของผู้เขียน

    (๔) การอ่านแบบเข้ม เป็นการอ่านเพื่อความถูกต้องและความเข้าใจอย่างลึก

    ซึ้งเกี่ยวกับความคิดและเหตุผลของผู้เขียน ซึ่งจะให้ความสำคัญในเรื่องของความเข้าใจมากกว่าความเร็ว ในข้อนี้มักเป็นการอ่านหนังสือประเภทวิชาการ นักศึกษาอาจใช้วิธีการอ่านแบบเข้มไปพร้อมกับการใช้เทคนิคการอ่านแบบ SQ3R และเทคนิคการจำดังจะกล่าวต่อไป

    นอกจากวิธีการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ ๗ ข้อข้างต้น ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการอ่านแล้ว ในเรื่อง “การอ่านหนังสือประเภทวิชาการ” เช่น คำบรรยายหรือหนังสือคำอธิบายกฎหมายวิชาต่าง ๆ ยังมีเทคนิคการอ่านแบบ SQ3R และเทคนิคการจำ ดังต่อไปนี้

    ๑. เทคนิคการอ่านแบบ SQ3R หรือเทคนิคในการดู ถาม อ่าน ท่อง ทวน

    (๑.๑) Survey คือ การอ่านแบบดูผ่านแบบคร่าว ๆ เพื่อสำรวจเนื้อหาที่จะต้องอ่านอย่างกว้าง ๆ ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว

    (๑.๒) Question คือ การถาม โดยการคิดตั้งคำถามที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับใจความสำคัญที่เรากำลังอ่านอยู่ เช่น ถามในใจว่าข้อความที่อ่านเกี่ยวกับใคร ทำอะไร เมื่อไร ที่ไหน ทำไม และอย่างไร (Who What When Where Why How) ซึ่งจะช่วยให้การอ่านเป็นไปอย่างมีจุดหมายและสามารถจับประเด็นใจความได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

    (๑.๓) Read คือ การอ่านอย่างละเอียด เพื่อทำความเข้าใจและจับประเด็นสำคัญ ๆ ของข้อความที่อ่านอย่างแท้จริง โดยต้องค้นหาคำตอบสำหรับคำถามที่ตั้งไว้ไปในขณะเดียวกัน ข้อนี้เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการศึกษาทุก ๆ ศาสตร์ โดยเฉพาะการศึกษากฎหมายในชั้นเนติบัณฑิต ลำพังเพียงการอ่านคำบรรยายในแต่ละภาค รวม ๒ ภาคให้จบทุกเล่ม ก็มีความหนาประมาณ ๑๐,๐๐๐ หน้าแล้ว การอ่านให้ได้อย่างรวดเร็วด้วยวิธีการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง

    (๑.๔) Recite คือ การท่อง เป็นการย้ำความจำในประเด็นสำคัญ ซึ่งอาจทำด้วยการเขียนสรุปเรียบเรียงหรือย่อใจความสำคัญหรือหัวข้อหลักใหญ่ ๆ ไว้ด้วยถ้อยคำที่ตนเองถนัดและเข้าใจมากที่สุด เพื่อสะดวกในการทบทวนต่อไปด้วย ข้อนี้ใช้มากในการ “ท่องตัวบทกฎหมาย” เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องใช้ในการตอบปัญหากฎหมาย โดยนักศึกษาสามารถใช้วิธีการท่องตามแต่ตนเองจะถนัด เช่น ท่องไปแล้วลองหัดเขียนดูว่าจำได้หรือไม่ ย่อแล้วท่องจำ ฝึกคัดลอกย่อจากตัวบทจริง เดินไปท่องไป (แต่ต้องระวังรถ) อัดตัวบทใส่เทปเสียงแล้วเปิดฟังเป็นประจำ ๆ (เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องอยู่บนรถเป็นเวลานาน) ฯลฯ

    (๑.๕) Review คือ การทบทวนในเนื้อหาประเด็นต่าง ๆ ที่ได้อ่านจบแล้วว่ามีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด

    ๒. เทคนิคการจำ สามารถทำโดยการขีดเส้นใต้ หรือการทำบันทึกย่อ

    (๑) การขีดเส้นใต้ หลังจากที่อ่านและทำความเข้าใจข้อความต่าง ๆ ดีแล้ว นักศึกษาก็สามารถขีดเส้นใต้หรือระบายสีสะท้อนแสงตรงตำแหน่งคำหรือข้อความที่เป็นประเด็นสำคัญจริง ๆ เพื่อให้แยกออกจากข้อความรายละเอียดปลีกย่อยได้อย่างชัดเจน เวลาจะกลับมาอ่านทบทวนอีกครั้งจะได้น่าอ่านและอ่านได้สะดวกไม่เสียเวลามาก

    (๒) การทำบันทึกย่อ เพื่อช่วยจับเนื้อหาสาระสำคัญของเรื่องที่อ่านมาแล้ว และเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเข้าใจในสิ่งที่อ่านมาแล้วได้ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้นำไปสู่การจำสิ่งที่อ่านมาอย่างเป็นระบบและแม่นยำยิ่งขึ้น ในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการท่องจำทบทวนทั้งตัวบทกฎหมายและย่อคำพิพากษาศาลฎีกา โดยอาจทำบันทึกย่อเรื่องที่เห็นว่าสำคัญไว้ในประมวลกฎหมายเล่มใหญ่ที่มีพื้นที่ว่าง เพื่อความสะดวกในการทบทวนได้พร้อมการท่องตัวบท ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจในวันใกล้สอบ รวมทั้งสามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานจริงในอนาคตได้ เช่น การสรุปย่อข้อเท็จจริง การย่อคำฟ้อง การย่อคำให้การ และการย่อทางนำสืบพยานหลักฐานของคู่ความ นักศึกษาจึงควรฝึกฝนเอาไว้ให้มาก

    เทคนิคหรือวิธีการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพข้างต้น เป็นการเรียบเรียงขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาโดยทั่วไป ดังนั้น นักศึกษาแต่ละคนจำต้องเลือกใช้เทคนิคหรือวิธีการบางข้อหรือใช้ผสมผสานกันหลายข้อ เพื่อให้เหมาะสมกับตนเองและลักษณะเนื้อหาวิชาการที่จะศึกษากฎหมายในชั้นเนติบัณฑิตจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักศึกษาสมกับเจตนารมณ์ของผู้เขียน

    วิธีการศึกษากฎหมายในชั้นเนติบัณฑิต

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย เห็นว่า การศึกษากฎหมายที่ถูกต้องควรเป็นดังนี้ [๘]

    ๑. ต้องมีความจำ คือ ต้องท่องจำตัวบท องค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ และคำอธิบายให้ได้ โดยเฉพาะตัวบทและองค์ประกอบเป็นข้อสำคัญมาก เพราะเวลาตอบข้อสอบไล่นักศึกษาต้องยกเอาองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์มาตอบ สำหรับองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ส่วนมากจะเป็นถ้อยคำจากตัวบทโดยตรง หรืออาจใช้ถ้อยคำอื่นที่แสดงได้ว่ามาจากตัวบทของมาตราใด การที่นำตัวบทมาแยกเป็นองค์ประกอบเป็นข้อ ๆ นั้น ก็เพราะจะทำให้จำง่าย มีสมาธิไม่ปะปนกับองค์ประกอบข้ออื่น และประหยัดเวลาในการวินิจฉัยไปตามลำดับองค์ประกอบแต่ละข้อ ซึ่งในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่านักศึกษาควรท่องจำตัวบทอย่างสม่ำเสมอทุกวันจนกว่าจะจำได้ โดยการท่องแบบแยกองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ รวมทั้งการบันทึกย่อเป็นถ้อยคำของตนเองจะช่วยให้สามารถจดจำได้ดียิ่งขึ้น (ถ้ายังจำไม่ได้ก็จงท่องต่อไปจนกว่าจะจำได้)

    ๒. ต้องมีความเข้าใจดี เพราะการจำแบบขาดความเข้าใจถ้าจำแล้วขาดหล่นไปสักคำสองคำ ที่จดจำมาก็ไร้ความหมาย วิธีทดสอบว่านักศึกษามีความเข้าใจในถ้อยคำของตัวบทหรือองค์ประกอบก็คือ นักศึกษาต้องสามารถอธิบายตัวบทและองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ด้วยภาษาของตนเองให้ได้ หากปรากฏว่ายังไม่เข้าใจก็ต้องพยายามทำความเข้าใจโดยการอ่านหลาย ๆ ครั้ง ถ้ายังไม่เข้าใจอีกก็ให้ไปสอบถามอาจารย์ผู้สอน

    ๓. ต้องใช้กฎหมายถูกต้อง นอกจากจดจำตัวบทคำอธิบายและทำความเข้าใจให้ดีแล้ว นักศึกษาต้องพยายามใช้กฎหมายให้ถูกต้อง โดยสามารถตอบปัญหาในการสอบไล่ได้ และสามารถนำความรู้ที่จดจำและเข้าใจไปใช้ปรับแก่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงได้ สำหรับการที่จะทดสอบว่านักศึกษามีความสามารถตอบปัญหาในการสอบไล่ได้นั้น ไม่มีทางใดที่ดีไปกว่าการที่จะหัดฝึกฝนตอบปัญหาจากข้อสอบเก่า ๆ เสียก่อน เพราะมักปรากฏว่าคำถามในการสอบไล่นั้น (ชั้นปริญญาตรี) มักจะออกซ้ำกันไปซ้ำกันมาอยู่เสมอ และวิธีที่จะทดสอบความเข้าใจในการใช้กฎหมายให้ถูกต้องนั้น เมื่อกลับจากการเรียนหรือการอ่านแล้วก็ให้ลองนึกว่าได้ศึกษาอะไรใหม่บ้าง เรื่องที่ได้ศึกษามาหากเป็นผู้ออกข้อสอบจะตั้งเป็นคำถามว่าอย่างไร และนักศึกษาจะตอบอย่างไร เพราะถ้าได้ลองเขียนตอบด้วย จะทำให้เป็นคนที่รู้จักคิดลับสมองอยู่เสมอ เวลาตอบข้อสอบไล่ก็จะสามารถตอบได้อย่างคล่องแคล่ว

    นอกจากนี้ ผู้เขียนได้นำประสบการณ์ของผู้ที่สอบไล่ได้ลำดับ “ที่ ๑ เนติบัณฑิต” สมัยต่าง ๆ มาเสนอแนะแนวเพิ่มเติมไว้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    วิญญู พิชัย ที่ ๑ เนติบัณฑิต สมัยที่ ๔๗ จะอ่านตัวบทกฎหมายทั้งหมดก่อน เพื่อให้ทราบโครงสร้างเนื้อหาทั้งหมด แล้วค่อยมาดูคำพิพากษาศาลฎีกา โดยควรจำเฉพาะคำพิพากษาศาลฎีกาที่แตกต่างหรือซับซ้อนกว่าตัวบท คำพิพากษาศาลฎีกาที่ไม่ต่างจากตัวบทก็ไม่จำเป็นต้องจำ คือ จะเน้นตัวบทให้มีหลักดีเสียก่อนที่จะไปอ่านฎีกา ขอให้นักศึกษาทุกคนพยายามและอดทนต่อสู้ศึกษาข้อด้อยข้อเด่นของตนเองให้เจอ ทดลองใช้วิธีการศึกษาที่แตกต่างกันไปเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมแก่ตน อย่าศึกษาเพียงแต่อ่านหนังสืออย่างเดียว ต้องพยายามอ่านตัวเองด้วย หาตัวเองให้เจอ อย่าท้อแท้ในยามแพ้และไม่ควรเริงร่าเกินไปเมื่อยามได้ชัยชนะ สำหรับผู้ที่เคยสอบมาแล้วเกิน ๑ สมัยหรือสอบมาแล้วหลายครั้ง ขอให้ถือคติว่า “ผู้แพ้ที่แท้จริง คือ ผู้ที่ล้มแล้วไม่ยอมลุกขึ้นต่อสู้ต่อไป”

    สันทนี ดิษยบุตร ที่ ๑ เนติบัณฑิต สมัยที่ ๔๘ ให้ความสำคัญกับตัวบทกฎหมายมากที่สุด ซึ่งไม่จำต้องท่องจำทุกตัวอักษร แต่ต้องรู้จักแยกองค์ประกอบให้ครบถ้วนถูกต้อง การเข้าเรียนหรือเข้าฟังคำบรรยาย ควรจดบันทึกหรือเลคเชอร์ตามที่อาจารย์บรรยายไปด้วย เพื่อที่จะได้มีสมาธิในการเรียนดีขึ้น โดยก่อนเรียนควรพยายามเตรียมตัวโดยอ่านไปล่วงหน้า และหากเรียนหรืออ่านหนังสือแล้วไม่เข้าใจตอนใด ก็อาจปรึกษาเพื่อนก่อนที่จะถามอาจารย์ในท้ายชั่วโมง การเรียนเนติบัณฑิตจะหนักกว่าในมหาวิทยาลัยมาก เพราะต้องศึกษากฎหมายทั้งหมดภายในระยะเวลาเพียง ๑ ปี นักศึกษาจึงต้องฝึกฝนตนเองให้สามารถอ่านหนังสือที่มีจำนวนมากให้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะหากสามารถอ่านได้เร็วก็จะได้เปรียบทำให้มีเวลาไปท่องตัวบท ฝึกหัดทำข้อสอบเก่า และอ่านหนังสืออื่นเพิ่มเติมให้ได้ความรู้แตกฉานมากยิ่งขึ้น ในการอ่าน “คำบรรยาย” จะขีดเส้นใต้ที่สำคัญจริง ๆ เอาไว้ และดูตัวบทตามไปด้วย เมื่ออ่านเสร็จให้แยกรวบรวมคำบรรยายไว้เป็นรายวิชาเพื่อสะดวกแก่การค้นคว้าทบทวนในภายหลัง ส่วน “คำพิพากษาศาลฎีกา” เป็นตัวอย่างการศึกษาเพื่อปรับข้อเท็จจริงเข้ากับหลักกฎหมายได้ถูกต้อง ทั้งยังได้อ่านวิธีการเขียนคำพิพากษาเพื่อนำมาเป็นแนวในการเขียนตอบข้อสอบอีกด้วย นอกจากนี้ การอ่านและฝึกทำข้อสอบเก่าจะทำให้ทราบถึงแง่มุมปัญหาที่นำไปออกข้อสอบ จะได้ให้ความสนใจมาตราที่ออกสอบบ่อยเป็นพิเศษ และเป็นการสร้างความคุ้นเคยจะได้ไม่รู้สึกตื่นเต้นหรือประหม่าจนเกินไปในห้องสอบจริงด้วย

    ดนยา ตั้งธนกานนท์ ที่ ๑ เนติบัณฑิต สมัยที่ ๔๙ เสนอเคล็ดลับการเรียนเนติบัณฑิตให้ประสบความสำเร็จต้องเริ่มต้นที่ความตั้งใจจริงตั้งแต่ก้าวแรก โดยตั้งปณิธานกับตัวเองว่า เราจะพยายามเรียนให้จบภายใน ๑ สมัย จากนั้นต้องรู้จักบังคับตนเอง มีระเบียบวินัยในตนเอง สามารถแสดงความรู้ที่มีอยู่ให้ออกมาในเวลาทำข้อสอบ การเตรียมพร้อมจะต้องระวังรักษาสุขภาพด้วย เฉลี่ยแล้วจะอ่านหนังสือวันละ ๔ - ๕ ชั่วโมง โดยจะเน้นที่ตัวบทและหลักกฎหมาย แต่ในภาคสองจะให้ความสำคัญแก่คำพิพากษาฎีกามากกว่าในภาคแรก โดยควรจะจดจำคำพิพากษาฎีกาที่ตีความหรือฉีกแนวจากหลักกฎหมายเพราะมักจะนำไปออกเป็นข้อสอบ การอ่านหนังสือควรจะอ่านในวิชาที่คิดว่าถนัดน้อยที่สุดก่อน และอย่าทิ้งวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเด็ดขาดเพราะข้อสอบจะเฉลี่ยกันออก หากดูหนังสือไม่ทันจริง ๆ อย่างน้อยก็ควรจะจำหลักกฎหมายไว้ให้ได้ การอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาต้องมีพื้นความรู้ในหลักกฎหมายเสียก่อน หากมีเวลาก็ควรอ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม (ย่อยาว) จะช่วยให้เราสามารถจดจำคำพิพากษาฎีกานั้นได้แม่นยำยิ่งขึ้นด้วย ข้อสอบที่ออกส่วนใหญ่จะนำมาจากคำพิพากษาฎีกาที่ลงพิมพ์ในหนังสือรวมคำบรรยายเนติบัณฑิต จึงควรอ่านคำบรรยายให้ครบทุกเล่ม แล้วไปอ่านตำราอื่นประกอบด้วย นอกเหนือจากความพร้อมทางด้านวิชาการแล้ว กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสอบ ต้องไม่กังวล ต้องหมั่นเติมความมั่นใจให้แก่ตนเอง

    ปกป้อง ศรีสนิท ที่ ๑ เนติบัณฑิต สมัยที่ ๕๐ จะเลือกเข้าเรียนในบางวิชาที่เห็นว่าท่านอาจารย์ผู้สอนให้หลักดี ๆ และในวิชาที่เห็นว่าตนไม่ถนัด เพราะจะช่วยให้อ่านหนังสือคำบรรยาย ฯ ที่ยึดเป็นหลักได้เร็วขึ้น ส่วนหนังสืออื่นแทบไม่ได้อ่านเลย ข้อสังเกตคือควรดูคำพิพากษาฎีกาที่มีการเก็งกันไปพร้อมกับการดูหลักกฎหมายในเรื่องนั้น เพราะข้อสอบอาจหลบไปออกหลักกฎหมายแทนเรื่องที่มีการเก็งฎีกากัน

    วิวัฒน์ ว่องวิวัฒน์ไวทยะ ที่ ๑ เนติบัณฑิต สมัยที่ ๕๒ เล่าว่าการจะมาฟังคำบรรยายเป็นประจำจะช่วยให้ย่นระยะเวลาในการอ่านหนังสือได้มาก เพราะจะได้สาระสำคัญจากข้อมูลที่อาจารย์เตรียมมาจากหนังสือหลายเล่ม บางครั้งจดไม่ทันก็อ่านคำบรรยายปีก่อนมาล่วงหน้า การจดคำบรรยายจะมีตัวย่อกว่า ๑๐๐ ตัวที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นระบบ จดด้วยปากกาหลายสีทำให้ง่ายต่อการอ่านทบทวน เมื่อกลับถึงบ้านก็จะใช้เวลา ๑ ชั่วโมง เพื่อทบทวนคำบรรยายที่ได้ฟังมาในวันนั้น แล้วย่อสาระสำคัญไว้ท้ายคำบรรยายวิชาละ ๑ หน้า รวมทั้งจดเลขฎีกาสำคัญรวบรวมไว้เพื่อไปถ่ายเอกสารฎีกาเต็มในทุก ๆ วันเสาร์แล้วแยกเป็นเรื่อง ๆ ไว้ เพราะการที่ยิ่งได้ทบทวนวิชาที่เรียนได้เร็วเท่าใด ก็จะช่วยรื้อฟื้นความจำได้เร็วและจำได้นานมากขึ้นด้วย

    เอก ขำอินทร์ ที่ ๑ เนติบัณฑิต สมัยที่ ๕๓ จะเข้าเรียนใน ๒ สัปดาห์แรกก่อนคำบรรยายจะออก โดยท่องตัวบทกฎหมายเป็นประจำทุกวัน จากนั้นจะเลือกเข้าฟังคำบรรยายเฉพาะวิชาที่เห็นว่าค่อนข้างยากแก่การศึกษาด้วยตนเอง โดยให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือรวมคำบรรยายที่เนติบัณฑิตยสภาเป็นหลัก ในขณะอ่านก็จะโน้ตย่อประเด็นหัวข้อที่สำคัญและคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจลงในประมวลกฎหมาย ส่วนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกานั้นควรเป็นการทำความเข้าใจหลักกฎหมายที่ศาลฎีกาวินิจฉัย ไม่ควรอ่านเพื่อเป็นการเก็งข้อสอบ หากไม่เข้าใจก็จะคุยกับเพื่อน ๆ หรือนำไปถามอาจารย์

    ภัทรา อยู่สำราญสุข ที่ ๑ เนติบัณฑิต สมัยที่ ๕๔ คิดว่าผู้ที่เรียนกฎหมายไม่จำต้องหัวดี แต่ต้องมีความวิริยะขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอ ดังสุภาษิตที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” โดยต้องค้นหาตัวเองว่ามีเป้าหมายในชีวิตอย่างไร แล้วใช้เป้าหมายนั้นเป็นแรงผลักดันตัวเองไปสู่เป้าหมาย ควรหาจุดอ่อนของเราให้ได้โดยเร็วเพื่อที่จะเติมเต็มในวิชาที่เรายังอ่อนอยู่ โดยเข้าฟังคำบรรยายเป็นประจำ เพราะทำให้ได้รับและจดจำแนวความคิดของท่านอาจารย์ผู้บรรยายได้ดีกว่าการอ่านหนังสือเองซึ่งต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก ในขณะฟังคำบรรยายจะพยายามจินตนาการตามที่ท่านอาจารย์ได้สอนไปด้วย การอ่านหนังสือก็จะอ่านคำบรรยายเป็นหลัก อ่านตำราของท่านผู้ทรงคุณวุฒิในบางวิชาเพิ่มเติมในสิ่งที่ไม่เข้าใจ ถ้ามีเวลาว่างก็จะอ่านหนังสือคำพิพากษาฎีกาประกอบ การท่องตัวบทกฎหมายควรท่องสม่ำเสมอทุกวันแล้วลองหัดเขียนด้วยว่าเขียนได้อย่างที่ท่องหรือเปล่า และหมั่นทบทวนท่องตัวบทที่ท่องไปได้แล้วเป็นประจำ

    พัฒนาพร โกวพัฒนกิจ ที่ ๑ เนติบัณฑิต สมัยที่ ๕๕ จะสรุปย่อคำบรรยายในแต่ละวิชาเกือบทุกวิชาที่ยากแก่การจดจำและเข้าใจลงในสมุดต่างหาก เพื่อให้จดจำเข้าใจและสะดวกในการทบทวนได้ดียิ่งขึ้น เพราะจดถ่ายทอดเป็นภาษาของเราได้เอง ในการอ่านหนังสือจะทำควบคู่ไปกับการอ่านประมวลซึ่งเท่ากับเป็นการท่องตัวบทไปแล้ว ๑ รอบ โดยจะอ่านประมวลทั้งหมดเพ

      เวลาขณะนี้ Fri Apr 19, 2024 7:42 pm