ชมรม มสธ.ระยอง

Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

สังคมแห่งการแบ่งปันเพื่อชาว มสธ.ระยอง


    ศัพท์กฎหมาย

    nustatalo
    nustatalo
    อนุบาล3
    อนุบาล3


    จำนวนข้อความ : 84
    Join date : 19/11/2009
    : 44
    ที่อยู่ : นิคมพัฒนา

    ศัพท์กฎหมาย Empty ศัพท์กฎหมาย

    ตั้งหัวข้อ  nustatalo Fri Jul 30, 2010 9:08 pm

    ที่มา http://www.thailaws.com/
    ผู้แทนโดยชอบธรรม
    บุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งจากศาลให้มีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำการแทนบุคคลไร้ความสามารถ หรือพูดอีกอย่างก็หมายถึง เป็นบุคคลที่จะต้องเป็นผู้ให้คำอนุญาตหรือให้ความยินยอมแก่บุคคลไร้ความสามารถในอันที่จะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด

    หักกลบลบหนี้
    การที่คนสองคนต่างมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน และหนี้นั้นเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระแล้ว และคนใดคนหนึ่งแสดงเจตนาต่ออีกคนหนึ่งขอหักกลบลบหนี้เพื่อจะได้พ้นจากหนี้ของตน เช่น ดำเป็นหนี้แดงอยู่ 20 บาท และแดงก็เป็นหนี้ดำอยู่ 15 บาท ทั้งสองคนจึงตกลงหักกลบลบหนี้กัน ดังนั้น ดำยังคงต้องใช้หนี้แดงอีกเพียง 5 บาท

    คำกล่าวโทษ
    การที่บุคคลซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย ได้เป็นผู้กล่าวหรือแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นโดยจะรู้ตัวผู้กระทำผิดหรือไม่รู้ก็ตาม

    แจ้งความเท็จ
    การนำเอาข้อเท็จจริงมาแจ้งต่อเจ้าพนักงาน โดยอาจแจ้งความด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ตาม ไม่ว่าการแจ้งนั้นจะมาแจ้งโดยตรงหรือแจ้งโดยการตอบคำถามของเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่ตนแจ้งนั้นเป็นเท็จ ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ว่าข้อความนั้นเป็นเท็จก็ไม่มีความผิด

    โมฆะกรรม
    การกระทำที่สูญเปล่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำนิติกรรมต่างๆ นิติกรรมที่ทำนั้นเสียเปล่าไม่เกิดผลในทางกฎหมาย เท่ากับว่านิติกรรมนั้นไม่ได้ทำขึ้นมาเลย ใครเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมกล่าวอ้างการเป็นโมฆะกรรมได้เสมอ เช่น นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย เช่น ทำสัญญาจ้างฆ่าคน , ทำสัญญาจ้างให้เหาะให้ดู ฯลฯ

    โมฆียกรรม
    การทำนิติกรรมที่สมบูรณ์ซึ่งมีผลบังคับได้ตามกฎหมายจนกว่าจะถูกบอกล้าง เป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นโดยมีเหตุบกพร่องบางอย่างในเรื่องความสามารถ หรือในเรื่องการแสดงเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เหตุบกพร่องไม่ได้ทำให้นิติกรรมสูญเปล่า นิติกรรมนั้นคงใช้ได้ตามกฎหมายตลอดไปจนกว่าจะมีการบอกล้าง เมื่อบอกล้างแล้วจึงถือว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ เสียเปล่ามาตั้งแต่แรก แต่ถ้าไม่ได้มีการบอกล้างจนล่วงเลยกำหนดตามกฎหมาย หรือมีการให้สัตยาบันรับรู้ในนิติกรรมนั้น นิติกรรมนั้นก็เป็นอันสมบูรณ์

    นิติกรรมอำพราง
    การทำนิติกรรมขึ้นสองอย่าง อย่างหนึ่งทำขึ้นโดยมีเจตนาเพียงเพื่อปกปิดหรืออำพรางนิติกรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ต้องการให้เป็นที่เปิดเผย ผลในทางกฎหมาย นิติกรรมอย่างแรกจะเป็นโมฆะ เพราะเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างคู่กรณี ส่วนนิติกรรมอย่างหลังที่ถูกอำพรางไว้จะมีผลในทางกฎหมาย

    ความผิดหลายบท
    การกระทำที่เป็นกรรมเดียวแต่เป็นความผิดตามกฎหมายหลายบท ซึ่งผู้กระทำต้องรับโทษตามกฎหมายบทที่หนักที่สุด เช่น เอาหินขว้างใส่บ้านจนกระจกแตก และหินไปโดนคนในบ้านกะโหลกแตกตายอีกด้วย เป็นการทำผิดกฎหมายสองบทคือ เจตนาทำให้เสียทรัพย์ และฆ่าคนตาย เช่นนี้ผู้กระทำต้องรับโทษฐานฆ่าคนตาย ซึ่งมีโทษหนักกว่า

    ความผิดหลายกระทง
    การทำความผิดหลายกรรมต่างกันหรือที่เรียกว่า "ต่างกรรมต่างวาระ" การกระทำแต่ละกรรมนั้นเป็นอิสระจากกัน เช่น วันนี้ยักยอกเงินนายจ้าง 100 บาท รุ่งขึ้นยักยอกอีก 500 บาท การยักยอกแต่ละวันไม่เกี่ยวกัน เป็นความผิดสองกระทงต้องรับผิดชอบเป็นรายกระทงไป

    พยานแวดล้อมกรณี
    พยานที่แสดงข้อเท็จจริงอันอาจทำให้ศาลพึงสันนิฐานข้อเท็จจริงในประเด็นได้ แต่พยานเช่นนี้มิใช่ประจักษ์ที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง บางคดีอาจหาพยานโดยตรงไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยพยานแวดล้อมกรณีเป็นส่วนประกอบในการช่วยพิสูจน์ข้อเท็จจริง เช่น พยานเบิกความว่า ได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วยจากในบ้าน ทันใดนั้นก็เห็นหลังคนวิ่งออกมาจากบ้านแต่งตัวนุ่งกางเกงยีน ใส่เสื้อคอกลมสีขาว แต่ไม่เห็นหน้าว่าเป็นใคร เมื่อฟังประกอบกับคำให้การของผู้เสียหายว่าคนร้ายคือนาย ก. เป็นผู้ทำร้ายตนโดยนาย ก. นุ่งกางเกงยีนใส่เสื้อยืดสีขาว ศาลก็ลงโทษนาย ก.ได้

    พยานบอกเล่า
    พยานที่ทราบข้อเท็จจริงจากการบอกเล่าของผู้อื่น มิได้รู้เห็นหรือทราบข้อเท็จจริงโดยตรง เมื่อมาเบิกความเป็นพยาน ศาลจะไม่ค่อยรับฟังหรือให้น้ำหนักความเชื่อถือแต่อย่างใด

    ทรัพยสิทธิ
    สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน เป็นสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินโดยตรง ทรัพยสิทธิจะก่อตั้งขึ้นได้โดยอาศัย อำนาจของกฎหมาย (จะมาทำสัญญาตั้งทรัพยสิทธิกันเองไม่ได้) เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิอาศัย ภาระจำยอม สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิจำนอง สิทธิยึดหน่วง ฯลฯ

    บุคคลสิทธิ
    สิทธิที่มีวัตถุแห่สิทธิเป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำ ที่เรียกกันว่าสิทธิเรียกร้อง กล่าวได้ว่าบุคคลสิทธิ คือสิทธิที่มีอยู่เหนือบุคคล เป็นสิทธิที่บังคับเอากับตัวบุคคลให้กระทำหรือให้งดเว้นการกระทำ จะไปบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินไม่ได้ เช่น สัญญาเงินกู้ ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะไปบังคับเอาทรัพย์สินของลูกหนี้เลยไม่ได้ เจ้าหนี้ต้องไปฟ้องร้องต่อศาลตามกระบวนการของศาลต่อไป

    มูลคดี
    ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ อันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง เช่น มีคนบุกรุกเข้าไปอยู่ในที่ดินของเรา ซึ่งปกติที่ดินที่เป็นของเรา คนอื่นย่อมไม่มีสิทธิเข้ามายุ่งเกี่ยว การที่มีคนเข้ามาอยู่โดยไม่มีสิทธิ นั่นย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของเราแล้ว เป็นเหตุให้เราเกิดอำนาจฟ้องให้เขาย้ายออกไป

    คดีมโนสาเร่
    คดีที่ฟ้องกันโดยอาจคำนวณความเสียหายเป็นเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท หรือคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์โดยมีค่าเช่าขณะยื่นฟ้อง หรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 30,000 บาท

    คดีไม่มีข้อยุ่งยาก
    คดีแพ่งธรรมดาสามัญ ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินแน่นอนตามตั๋วเงินหรือสัญญา ซึ่งปรากฏในเบื้องต้นว่าเป็นสัญญาที่แท้จริง มีความสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมาย เช่น สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจำนอง สัญญาค้ำประกัน เช็ค ตั๋วสัญญาใช้เงิน ฯลฯ

    ความผิดลหุโทษ
    ความผิดที่มีโทษเล็กน้อยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดลหุโทษมิได้มีเฉพาะแต่ในกฎหมายอาญาเท่านั้น แต่ความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญาแม้จะกระทำโดยไม่เจตนาก็เป็นความผิด เช่น การวางสิ่งของกีดขวางทางสาธารณะ แม้มิได้มีเจตนาที่จะกีดขวางก็เป็นความผิดแล้ว

    อายุความ
    ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้คู่กรณีจัดการใช้สิทธิเรียกร้องต่อกันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ต้องฟ้องภายใน 1 ปี 2 ปี 3 ปี ฯลฯ ถ้าไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ย่อมมีผลทำให้หมดสิทธิเรียกร้องต่อกัน เรียกว่า "คดีขาดอายุความ"

    มรดก
    บรรดาทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ซึ่งรวมไปถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของผู้ตายด้วย เมื่อผู้ใดถึงแก่ความตายไม่ว่าจะตายตามธรรมชาติหรือตายเพราะศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ มรดกของคนๆ นั้นย่อมตกทอดแก่ทายาท ซึ่งแบ่งเป็นทายาทโดยธรรมคือ คู่สมรส พ่อ แม่ พี่ น้อง ฯลฯ และทายาทที่เป็นผู้รับพินัยกรรม

    พินัยกรรม
    การแสดงเจตนาเป็นคำสั่งสุดท้ายของเจ้ามรดกอันเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนหรือในกิจการต่างๆ และให้มีผลบังคับเมื่อตนเองถึงแก่ความตายแล้ว โดยที่การแสดงเจตนานั้นจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น พินัยกรรมจะต้องมีข้อความใดบ้าง , ต้องมีพยานลงชื่อรับรองกี่คน ฯลฯ

    ค่าสินไหมทดแทน
    การใช้ราคาทรัพย์สินที่ผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะการกระทำละเมิด หรือการใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายที่จะพึงบังคับให้ใช้ เพื่อความเสียหายใดๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย เช่น ถ้าผู้ทำละเมิดเอาทรัพย์ไปโดยไม่มีอำนาจ ผู้นั้นต้องคืนทรัพย์นั้นให้แก่เจ้าของหรือชดใช้กันด้วยวิธีอื่น แต่ถ้าไม่อาจคืนทรัพย์สินนั้นในสภาพเดิมได้ไม่ว่าจะเป็นเพราะถูกทำลายหรือสูญหาย ก็จะต้องชดใช้ราคาของทรัพย์นั้น ส่วนค่าเสียหายที่จะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายใดๆ อันได้ก่อขึ้นนั้น เป็นการบังคับให้ใช้ค่าเสียหายเป็นตัวเงินเพื่อชดเชยกับความเสียหาย เช่น ราคาตามทรัพย์สิน , ค่ารักษาพยาบาล

    การสาบสูญ
    การตายโดยผลของกฎหมาย อันเนื่องจากคนใดๆ ที่ได้ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยไม่ส่งข่าวคราวและไม่มีใครทราบว่ายังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นกรณีธรรมดา หรือในกรณีพิเศษที่มีภาวะสงคราม

    คนไร้ความสามารถ
    คนที่ไม่มีความสามารถตามกฎหมาย หรือถูกกฎหมายจำกัดในเรื่องความสามารถ หรือคนวิกลจริตที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้วและให้อยู่ในความอนุบาลของบุคคลอื่น เช่น คนบ้า , คนเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ฯลฯ

    คนเสมือนไร้ความสามารถ
    คนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรา หรือมีเหตุอื่นในทำนองเดียวกัน จนทำให้ไม่สามารถจัดการงานโดยตนเองได้ คนเหล่านี้เมื่อถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว จะต้องอยู่ในความพิทักษ์ของบุคคลอื่น เช่น คนที่ติดสุราเรื้อรัง

    เจตนา
    การกระทำที่ผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ ตัวอย่างของการกระทำที่ประสงค์ต่อผล เช่น ต้องการฆ่าคนอื่นจึงใช้ปืนยิงเขาจนตาย ส่วนการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นผล เช่น ยิงปืนเข้าใส่ในรถเมล์ที่วิ่งผ่านมาแม้มิได้ตั้งใจจะฆ่าใครโดยเจาะจง จนเกิดการตายหรือบาดเจ็บขึ้น เช่นนี้ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลที่อาจจะเกิดขึ้นได้แต่ก็ยังกระทำ กฎหมายถือว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนา

    ประมาทเลินเล่อ
    การกระทำที่ผู้กระทำมิได้มีเจตนา ซึ่งหากได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว ความเสียหายก็อาจจะไม่เกิดขึ้น แต่ผู้กระทำมิได้ใช้ความระมัดระวังนั้นให้เพียงพอ เช่น ขับรถยนต์มาในทางเอก พอมาถึงทางแยกเห็นรถออกมาจากทางแยกแล้ว แต่ก็มิได้หยุดหรือชะลอความเร็วลงจนเกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่นนี้แม้ว่ารถในทางเอกมีสิทธิไปก่อน แต่ก็ถือว่ารถในทางเอกประมาทเลินเล่อ

    โดยทุจริต
    การกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น โดยที่ประโยชน์ที่แสวงหานั้นจะได้มาในรูปของเงินทองหรือทรัพย์สิน หรือสิทธิประโยชน์ใดๆ ก็ตาม แม้แต่การทุจริตในเชิงนโยบายก็ตาม

    ทางสาธารณะ
    ทางบกหรือทางน้ำสำหรับประชาชนใช้ในการจราจร รวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดิน สำหรับประชาชนโดยสารด้วย เช่น ถนนหนทาง แม่น้ำลำคลอง ซึ่งใครๆ ก็มีสิทธิที่จะใช้ได้

    สาธารณสถาน
    สถานที่ใดๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ แต่ถ้าสาธารณสถานนั้นมีกำหนดเวลาทำการเปิด - ปิดที่แน่นอน เช่น ร้านอาหาร โรงหนัง หลังเวลาที่ปิดแล้วย่อมไม่มีสิทธิที่จะเข้าไป

    เคหสถาน
    ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย รวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม เช่น บ้านที่มีบริเวณรอบๆ บ้านเป็นลานว่างไม่มีรั้วกั้น บริเวณลานว่างนั้นก็ถือว่าเป็นเคหสถานด้วย

    อาวุธ
    นอกจากปืน มีด ระเบิด ฯลฯ ยังหมายความรวมถึงสิ่งซึ่งมิใช่อาวุธโดยสภาพ แต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ เช่น สากกะเบือมีไว้สำหรับใช้ทำอาหาร แต่ได้นำมาใช้ตีหัวคนอื่นจนแตก เช่นนี้ถือว่าสากกระเบือเป็นอาวุธด้วย

    เอกสารราชการ
    เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และรวมถึงสำเนาเอกสารนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย

    เอกสารสิทธิ
    เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ เช่น โฉนดที่ดิน สัญญาซื้อขาย สัญญาจำนอง ฯลฯ

    พยายามกระทำความผิด
    การลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เช่น ลงมือจุดไฟเผาบ้านคนอื่นแล้ว แต่เกิดเปลี่ยนใจเสีย ถือว่าเป็นการกระทำผิดไม่ตลอด หรือกรณีที่จุดไฟเผาบ้านคนอื่นแล้ว แต่มีชาวบ้านมาช่วยกันดับไฟนั้นเสีย ถือว่าเป็นการทำผิดที่ไม่บรรลุผล กฎหมายถือว่าผู้กระทำมีความผิดฐานพยายามกระทำความผิด

    เหตุสุดวิสัย
    เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นหรือจะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้คนที่ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรแล้ว

    ละเมิด
    การกระทำที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต แก่ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้อื่น


      เวลาขณะนี้ Fri Apr 19, 2024 6:26 pm